ลงนามซีพี

ม.วลัยลักษณ์-ซีพีเอฟ’ลงนามความร่วมมือ พัฒนางานวิชาการ ผลิตบัณฑิตตอบโจทย์ตลาดแรงงาน

ม.วลัยลักษณ์ ร่วมกับ ซีพีเอฟ ลงนามความร่วมมือเพื่อพัฒนางานวิชาการ มุ่งผลิตบัณฑิตตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมและตลาดแรงงาน นำร่องในหลักสูตรเกษตรศาสตร์และนวัตกรรม และวิทยาศาสตร์อาหารและนวัตกรรม

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธํารงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์(มวล.)  และ นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ  ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เพื่อร่วมกันพัฒนางานทางด้านวิชาการ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางด้านการศึกษา มุ่งผลิตบัณฑิตตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมและตลาดแรงงาน นำร่องในหลักสูตรเกษตรศาสตร์และนวัตกรรม และวิทยาศาสตร์อาหารและนวัตกรรม

โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.จรัญ บุญกาญจน์ รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ วุฒิสุทธิเมธาวี  รองอธิการบดีมวล. นายสิริพงศ์ อรุณรัตนา ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจสัตว์บก นางสาวพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุลประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคล บริษัท ซีพีเอฟ  ร่วมลงนาม  ท่ามกลางคณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ผู้บริหารบริษัทซีพีเอฟ ตลอดจนสื่อมวลชน รวมกว่า 50 คนเข้าร่วม ณ ห้องประชุม Board Room ชั้น 30 อาคารซีพีทาวเวอร์ สีลม กรุงเทพมหานคร

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ  ธํารงธัญวงศ์ กล่าวว่า โลกกำลังเข้าสู่ยุค 5.0 ทุกภาคส่วนต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายรวมถึงภาคการศึกษา มหาวิทยาลัยฯ จึงมุ่งเน้นงานวิจัยและบริการวิชาการ ควบคู่กับการผลิตบัณฑิตที่มีทักษะแห่งอนาคต มีศักยภาพสูง ขอบคุณซีพีเอฟสำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นการมอบโอกาสดีๆ ให้แก่คนรุ่นใหม่ ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนและจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาทรัพยากรบุคคล รองรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของอุตสาหกรรมอาหาร เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันบนเวทีโลก

“ในช่วงแรกนำร่องพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต 2 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาเกษตรศาสตร์และนวัตกรรม และ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์อาหารและนวัตกรรม รวมทั้งจะขยายความร่วมมือไปสู่หลักสูตรอื่นๆ อาทิ วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมเครื่องกล คอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ ให้สอดรับกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมต่อไป”ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าว

ด้านนายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ กล่าวว่า ซีพีเอฟดำเนินธุรกิจด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารแบบครบวงจร ยึดมั่นในหลักปรัชญา 3 ประโยชน์สู่ความยั่งยืน คือ ประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชน และบริษัท ทั้งนี้ทรัพยากรบุคคล เป็นกำลังสำคัญในการยกระดับธุรกิจให้ก้าวหน้า การผนึกกำลังกับมหาวิทยาลัยฯ เพื่อยกระดับมาตรฐานการศึกษาและการวิจัย รวมทั้งผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของภาคธุรกิจและตลาดแรงงาน โดยบูรณาการองค์ความรู้มิติต่างๆ และการปฏิบัติงานจริง เรียนรู้การทำงาน การแก้ปัญหาร่วมกับผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหาร สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของซีพีเอฟสร้างคนดีและคนเก่ง ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

ทั้งนี้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวทั้งสองฝ่ายตกลงจะดำเนินกิจกรรมความร่วมมือทางวิชาการในรูปแบบต่างๆร่วมกัน ประกอบด้วย การแลกเปลี่ยนบุคลากรวิจัย การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการศึกษา การทำวิจัยและพัฒนา การพัฒนาหลักสูตรร่วมกัน การเชิญเป็นอาจารย์พิเศษหรือวิทยากรพิเศษ การเป็นที่ปรึกษาโครงการ การับนักศึกษาฝึกงานและสหกิจศึกษา โครงการบริการวิชาการ โครงการฝึกอบรมเฉพาะทางระยะสั้น กิจกรรมเพื่อประโยชน์ต่อสังคม และความร่วมมือในรูปแบบอื่นตามที่ทั้งสองฝ่ายจะตกลงกัน ภายใต้กรอบระยะเวลา 5 ปี